คนทำงานตาเสื่อมก่อนวัย…ภัยจากคอมพิวเตอร์ และ รู้ไหมว่า หากคุณใช้ดวงตาทำงานกับคอมพิวเตอร์อย่างหักโหมเป็นเวลานานด้วยแล้ว ก็มีสิทธิ์ตาบอดเหมือนนางเอกท่านนั้นด้วยเช่นกัน ประสบการณ์ของสามคนทำงานเหล่านี้ แม้จะไม่ถึงกับตาบอด แต่ก็มีปัญหาเรื่องการมองเห็น
ตาเสื่อมเพราะทำร้ายตัวเอง
ดวงตาเสื่อมสภาพได้เช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้ หากใช้อย่างสมบุกสมบันจึงเป็นการทำร้ายดวงตาโดยไม่ตั้งใจ
คุณยุวดี สุวรรณศักดิ์ชัย หรือขวัญ อายุ 27 ปี สไตลิสต์นิตยสารเล่มหนึ่ง
สาเหตุ คุณยุวดีเล่าว่า เธอมีปัญหาสายตาสั้นและชอบปิดไฟให้มืดระหว่างที่เล่นวิดีโอเกม แถมยังชอบอ่านหนังสือในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ มาตั้งแต่เด็ก หมอบอกว่าการทำเช่นนี้ ทำให้รูม่านตาต้องขยายผิกปกติเพื่อรับแสงสว่าง เมื่อ โตขึ้น ก็ยังคงใช้ดวงตาอย่างหนัก ระหว่างศึกษาด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกในระดับชั้นปริญญาตรี บ่อยครั้ง เธอโหมทำรายงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องอยู่หน้าจอตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงตีห้าของอีกวันต่อมา เมื่อทำงานในฝ่ายศิลปกรรมของนิตยสาร ก็ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา บางครั้งงานเร่ง เธอมักนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองสามทุ่ม
อาการผิดปกติ เริ่มเห็นความผิดปกติเด่นชัดในช่วงที่ทำงานอยู่ฝ่ายศิลปกรรม โดยเริ่มมีอาการปวดกระบอกตา แล้วลามถึงระหว่างหัวคิ้ว จนบริเวณหัวคิ้วบวมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมองเห็นจุดดำๆ ลอยไปลอยมาเหมือนแมลงวัน เริ่มจากจุดเดียวแล้วจึงเพิ่มมากขึ้นสุดท้าย อาการหนักถึงขั้นใช้สายตาไม่ได้เลย ทำงานก็ไม่ได้
คุณ ยุวดีเล่าให้ฟังต่อว่า “ตอนไปหาหมอครั้งแรก หมอวินิจฉัยว่าตาแห้งเนื่องจากสายตาสั้น แล้วให้ยาคลายกล้ามเนื้อมากิน และน้ำตาเทียมมาหยอดเพื่อบรรเทาอาการ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ภายหลัง เมื่อได้รับการตรวจอย่างละเอียดจึงทราบว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม คือแทนที่จอประสาทตาจะเป็นตาข่ายแผ่เหมือนใยแมงมุมปกติ แต่กลับขยุ้มเป็นกระจุก”
ในเมื่อสาเหตุหนึ่งคือสายตาสั้น คุณยุวดีจึงตัดสินใจทำเลสิก และเปลี่ยนมาทำงานในตำแหน่งสไตลิสต์ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์น้อยลง จึงช่วยให้อาการต่างๆ ดีขึ้น แต่ยังเห็นจุดดำๆ อยู่ เพราะเซลล์ประสาทที่เสียแล้วไม่สามารถฟื้นคืนได้
การดูแลตัวเอง
1. จำกัด เวลาใช้คอมพิวเตอร์ให้ไม่เกินวันละหนึ่งชั่วโมง โดยวางจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ห่างจากดวงตา และมองจอคอมพิวเตอร์ครั้งละไม่เกินสิบห้านาที จากนั้นก็พักสายตา โดยการมองที่ไกลๆ
2. ใช้อุปกรณ์กรองรังสีจากจอคอมพิวเตอร์ เช่น แว่นตากรองรังสี
3. หยอดน้ำตาเทียม เมื่อมีอาการตาแห้ง
4. อ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และเลือกอ่านหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาแทนกระดาษขาว
5. กินวิตามินเสริม เช่น วิตามินเอ บี12 เพื่อบำรุงดวงตา
ใช้ดวงตาอย่างทะนุถนอม เพื่อให้ดวงตาคู่งามสามารถใช้งานได้ดีจนวันสุดท้ายของชีวิตค่ะ
โชคดีที่รู้ตัวก่อน
เรื่อง ของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รู้ตัวก่อนย่อมได้เปรียบ เหมือนกับคุณทรงสมร เอี่ยมสรรพางค์ หรือน้องหนู อายุ 32 ปี ข้าราชการสังกัดกระทรวงพานิชย์ ที่สังเกตเห็นความผิดปกติของตนเองแต่เนิ่นๆ
สาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน คือ ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงห้าโมงเย็น และเมื่อกลับบ้านยังเล่นเกมคอมพิวเตอร์ต่ออีก ทำแบบนี้ติดต่อกันนานสิบปี ทำให้ดวงตาที่ใช้งานหนักมาก เริ่มแสดงอาการผิดปกติ
อาการผิดปกติ คุณทรงสมรเริ่มมีอาการปวดศีรษะและดวงตาเล็กน้อย แต่ตอนหลังเมื่อใช้คอมพิวเตอร์นานๆ หรือเมื่ออยู่กลางแดด อาการนี้จะลามไปถึงกระบอกตา ทำให้ยิ่งปวดศีรษะ เห็นแสงระยิบระยับ จุดสีดำและขาวเต็มไปหมด และตอนกลางคืน สายตาก็ไม่สามารถปรับใช้ชินกับความมืดอย่างกะทันหันได้ เมื่อมีอาการมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
“หมอ คนแรกดูโครงสร้างของตาบอกว่าไม่เป็นอะไรเลย ไม่มียาให้กินเลย แต่ยังมีอาการปวดตาอยู่เรื่อยๆ จึงลองเปลี่ยนหมอ ซึ่งส่องดูรูม่านตาแล้ววินิจฉัยว่าเป็นต้อหินชนิดความดันตาปกติระยะแรก
“พบว่าขั้วประสาทตาฝ่อไปประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว”
คุณหมอจึงแนะนำให้คุณทรงสมรนวดตา เพื่อกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์ขั้วประสาทตาที่กำลังจะเสื่อมให้ฟื้นตัวขึ้นใหม่
การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน
1. นวดตาเป็นประจำทุกวัน วันละหกครั้ง คือ 7 นาฬิกา 10 นาฬิกา 12 นาฬิกา 14นาฬิกา 17 นาฬิกา และ 21 นาฬิกา
วิธี นวดตาของคุณทรงสมร คือ 1.) หลับตา จากนั้นใช้ฐานมือ (บริเวณที่อยู่ติดกับข้อมือ) วางที่ตา โดยระวังไม่ให้มือถูกโหนกแก้มหรือค้ำจมูก เพราะทำให้ไม่ได้แรงนวดที่พอดีกับความจำเป็น 2.) ออกแรงกดฐานมือที่อยู่บนตา ค้างไว้ประมาณสองนาทีครึ่ง อาจเปิดเพลงฟังไปด้วยเพื่อลดความเบื่อหน่าย
อย่างไรก็ดี คุณทรงสมรแนะนำว่า ควรให้คุณหมอตรวจดูรูปตาก่อน เพราะบางคนไม่สามารถนวดตาได้ เช่น คนที่ตาอักเสบ ช่องลานตาแคบ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา นอกจากนี้ ยังไม่สามารถนวดตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ได้เช่นกัน
2. สวมแว่นกันแดดเป็นประจำ เพื่อป้องกันแสงสะท้อน
3. ปรับ ลดความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ลง และเปลี่ยนมาใช้จอแอลซีดี (Liquid Crystal Display) ที่บ้าน ส่วนคอมพิวเตอร์ที่ที่ทำงานยังเป็นหน้าจอโค้งหรือซีอาร์ที (Cathode Ray Tube Monitor) จึงใช้แผ่นกรองรังสีคอมพิวเตอร์ช่วย
เมื่อนวดตาเป็นประจำประกอบกับลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายดวงตาแล้ว อาการของคุณทรงสมรจึงดีขึ้นตามลำดับ แม้ได้รับแสงสะท้อนก็ไม่ปวดตา
“การตรวจเจอและรักษาตั้งแต่ระยะแรกอาจยังไม่อันตราย แต่หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ” คุณทรงสมรฝากทิ้งท้าย